เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าวต่างประเทศ Khmer Times จากกัมพูชาเผยแพร่บทความโจมตีประเทศไทยอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยกำลังเปิดฉาก ทำสงคราม รูปแบบใหม่ ไม่ใช่ผ่านการทูต แต่เป็นการใช้เล่ห์กล ข้อมูลบิดเบือน และกลยุทธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวทางทหารเข้าไปยังพื้นที่พิพาทบริเวณชายแดนกัมพูชา
บทความระบุว่า เหตุการณ์ทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดล่าสุด ไม่ใช่เพียงอุบัติเหตุหรือการกระทำฝ่ายเดียวของกัมพูชา แต่สะท้อนถึงแผนปฏิบัติการที่ไทยวางไว้ล่วงหน้า เพื่อผลักดันแนวคิดการถือครองดินแดนข้อพิพาทให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกล่าวหาว่าไทยเดินหน้าทำแผนโฆษณาชวนเชื่อผ่านแผนที่ที่จัดทำโดยฝ่ายเดียว ซึ่งไม่เคยได้รับการยอมรับจากกัมพูชาและไม่มีสถานะในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการอ้างว่าไทยได้เพิ่มกำลังทหารตามแนวชายแดนโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ไม่ประสานงานกับกัมพูชา และเข้าเคลื่อนไหวในพื้นที่พิพาทโดยพลการ ก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากทุ่นระเบิด ซึ่งทางการกัมพูชายืนยันว่าไม่มีการวางทุ่นระเบิดใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ กัมพูชาในฐานะประเทศภาคีของอนุสัญญาออตตาวา ยังแสดงจุดยืนว่าเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านการกวาดล้างทุ่นระเบิดมาอย่างยาวนาน
ในรายงานยังกล่าวหาว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยและสื่อกระแสหลักในประเทศ อาทิ The Nation, Bangkok Post, Khaosod English และสื่อภาษาไทยหลายสำนัก ต่างออกมากล่าวหากัมพูชาว่าเป็นผู้วางทุ่นระเบิดลูกใหม่ โดยปราศจากหลักฐานและเจตนาเป็นการโจมตีทางการเมือง
กองทัพกัมพูชาและสำนักงานช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดแห่งชาติ (CMAA) ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการวางกับระเบิดเพิ่มเติมใดๆ และการที่ไทยกล่าวโทษกัมพูชานั้น ก็เพราะต้องการเบี่ยงเบนความสนใจจากการละเมิดอธิปไตยและการกระทำที่ผิดกฎหมายของตนเอง ไทยมีประวัติซ้ำซากในการละเมิดข้อตกลงทวิภาคี บิดเบือนประวัติศาสตร์ และใช้ข้ออ้างทางแผนที่เพื่อเคลื่อนไหวทางทหาร โดยเฉพาะพื้นที่พิพาทบริเวณปราสาทตาควาย, ปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทตาเมือนโต๊ด และบริเวณสามเหลี่ยมมรกต ซึ่งไทยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ทั้งที่เคยแพ้คดีให้กัมพูชาในศาลโลก (ICJ) มาแล้วถึงสองครั้งในปี 1962 และ 2011
รายงานยังกล่าวหาเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเลือกใช้ ภาษาเชิงมนุษยธรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเป็นเหยื่อ ทั้งที่ในความเป็นจริงคือผู้รุกราน พร้อมตั้งคำถามถึงความจริงใจของไทยในการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยเปรียบเทียบว่า กัมพูชาเลือกกฎหมาย ขณะที่ไทยเลือกใช้การหลอกลวง
ในช่วงท้าย บทความเน้นย้ำว่า ประชาคมโลก โดยเฉพาะสหประชาชาติ (UN), อาเซียน (ASEAN) และสื่อต่างประเทศ ควรจับตามองและกล้าตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เปิดทางให้ประเทศใดใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมถูกข่มขู่และจะปกป้องแผ่นดินของตน ด้วยข้อเท็จจริง หลักนิติธรรม และความยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ใช่ด้วยกลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อหรือการเผชิญหน้า