รอมฎอน กังวล พล.อ.พิศาล จำเลยที่หนึ่งคดีตากใบ อาจไม่ปรากฏตัวต่อศาล 12 ก.ย.นี้ หวังไม่ยื้อจนหมดอายุความ 25 ต.ค.
ข่าวการเมือง

รอมฎอน กังวล พล.อ.พิศาล จำเลยที่หนึ่งคดีตากใบ อาจไม่ปรากฏตัวต่อศาล 12 ก.ย.นี้ หวังไม่ยื้อจนหมดอายุความ 25 ต.ค.

วันที่ 10 กันยายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวต่อความกังวลกรณีจำเลยในคดีตากใบอาจไม่ไปปรากฏตัวต่อศาลตามนัดในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยหากจำเลยไม่มาปรากฏตัวต่อศาลจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ก็จะส่งผลให้คดีหมดอายุความได้

รอมฎอนระบุว่าจำเลยในคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 7 คน เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมและการควบคุมสถานการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งหนึ่งในนั้น คือจำเลยที่หนึ่ง ปัจจุบันมีสถานภาพเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยด้วย คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี

ในวันที่ 12 กันยายนนี้จะเป็นนัดแรกที่ศาลจะมีการนัดเบิกความจำเลยและนัดตรวจพยานหลักฐาน ถือว่าเป็นนัดแรกที่สำคัญมาก ประเด็นอยู่ที่ว่าในวันที่ 12 กันยายนนี้ ทางจำเลยทั้ง 7 คนจะเดินทางไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาสหรือไม่ เพราะหลักการของการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป จะต้องมีการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

รอมฎอนกล่าวต่อไปว่านี่คือจุดชี้ขาด เพราะการปรากฏตัวของจำเลยต้องดำเนินการก่อนวันสิ้นอายุความ คดีนี้เป็นคดีสำคัญและเป็นข้อพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมของไทยว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ที่สูญเสียทั้ง 85 คนได้หรือไม่ แม้กระทั่งผู้พิพากษาตอนที่ตนไปสังเกตการณ์ในรายงานการพิจารณาคดี ท่านเองก็ระบุว่าพฤติการณ์ในคดีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ปัญหาความรุนแรง และกระบวนการสันติภาพ

สำหรับตน นี่หมายความว่ากระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้จะมีทิศทางไปอย่างไรขึ้นอยู่กับความเป็นไปในคดีนี้ ในด้านหนึ่งคำอธิบายหรือประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้หากไม่สามารถสะสางได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถหาข้อยุติได้อย่างเป็นธรรม ก็คงจะยากที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่ออำนาจรัฐได้

รอมฎอนกล่าวต่อไปว่าด้วยเหตุนี้ ตนจึงต้องขอเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นทั้งอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งต่อราชการและสังคม ได้ให้ความร่วมมือกับศาลในการไปร่วมพิจารณาคดีก่อนหมดอายุความด้วย นี่ไม่ใช่แค่การให้ความร่วมมือต่อกระบวนการในชั้นศาลเท่านั้น แต่นี่คือชะตากรรมของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนจำเลยที่หนึ่ง ต้องพูดกันตรงๆ ว่า พล.อ.พิศาล มีสถานะเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งโดยบังเอิญว่าในวันที่ 12 กันยายนที่ศาลนัด ก็มีการประชุมร่วมสองสภาเพื่อฟังคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ก็อาจจะเป็นเหตุในการอ้างได้ว่าติดภารกิจ

อย่างไรก็ตาม วรรค 4 ของมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ที่พูดถึงการคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในการพิจารณาคดีระหว่างที่มีการเปิดสมัยประชุม ก็ยังเปิดช่องให้กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยที่เป็นการแสดงเจตจำนงของทางสมาชิกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกจะได้แสดงสปิริตในการเข้าร่วมการพิจารณาคดีครั้งนี้ด้วย

รอมฎอนกล่าวต่อไป ว่าในฐานะที่ตนเป็นผู้ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ต้องเรียนว่าคดีดังกล่าวยังมีความสำคัญในทางการเมืองมากด้วย ซึ่งทางอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เองก็เคยกล่าวถึงเหตุการณ์นี้เมื่อสองปีที่แล้ว โดยการขออภัยต่อประชาชนที่สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์คราวนั้น

"หากอายุความสิ้นสุดลง คำถามใหญ่ๆ จะพุ่งตรงไปสู่ไม่ใช่แค่จำเลยที่ตั้งใจจะไม่ปรากฏตัวเท่านั้น แต่อาจจะโยงไปถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยด้วย ขอเรียนว่าผู้นำรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำควรต้องให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม พร้อมกับแสดงความบริสุทธิ์ใจที่จะให้กระบวนการพิจารณาคดีเดินหน้าต่อไป ต้องไม่ลืมว่าประชาชนคาดหวังว่าความจริงและความยุติธรรมจะบังเกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างที่ควรจะเป็น คดีตากใบเป็นบาดแผลที่ใหญ่ที่สุดเป็นปมที่สำคัญที่สุดของความขัดแย้งชายแดนใต้ ถ้าเราปล่อยให้อายุความหมดไปทั้งที่คดีถึงมือศาลแล้ว ศาลประทับรับฟ้องแล้ว มันจะกลายเป็นปมปัญหาและเป็นแผลเป็นที่จะแก้ไขไม่ได้" รอมฎอนกล่าว

รอมฎอนกล่าวต่อไป ว่าตนอยากให้พรรคเพื่อไทยและเพื่อนสมาชิกตระหนักถึงเรื่องนี้ อยากให้ทางพรรคได้พูดคุยกับ สส. เพื่อให้เดินทางไปศาลก่อนที่คดีจะหมดอายุความ และแน่นอนที่สุดภาระความรับผิดชอบนี้ในทางการเมืองตกอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ทั้งในฐานะลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้นำรัฐบาลในปัจจุบันด้วย ที่เราต่างก็รับมรดกของความขัดแย้ง ท่านอาจจะต้องใส่ใจต่อเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีที่สะท้อนว่าท่านมุ่งมั่นในการคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับการนัดเบิกคำให้การจำเลยในคดีตากใบสำนวนนี้ ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน ตนไม่สามารถเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องเข้าร่วมประชุมสภาฯ และเตรียมอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของพรรคประชาชนจังหวัดนราธิวาส ได้ทำหนังสือถึงศาลเพื่อขอเข้าสังเกตการณ์ในวันดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ รอมฎอนระบุทิ้งท้ายด้วยว่า ได้รับทราบว่าทางญาติของผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรผ่านทาง สส.กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเรียกร้องให้ประธานและสมาชิกสภาฯ ได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความเป็นธรรมและอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เดินทางไปศาลในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งคงต้องติดตามว่าทางประธานสภาฯ จะดำเนินการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน